ศูนย์ทอผ้าฝ้ายไร้สารเคมีของแม่ๆ บ้านนาหนองบง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เพื่อต่อสู้กับอำนาจทุนนิยมและภาครัฐ พร้อมสืบทอดอุดมการณ์ความรับผิดชอบต่อชีวิตและวิถีชีวิตชุมชนสู่ลูกหลาน

นาหนองบง คือหมู่บ้านเล็กๆ ชายป่า ที่ล้อมรอบด้วยภูเขาและป่าเขียวขจีในเขตตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
ความเป็นอยู่ของชุมชนเป็นไปอย่างสงบสุขและเรียบง่าย จนวันหนึ่งทุกอย่างกลับพังทลายเพราะเหมืองทองคำ
ผืนป่าและภูเขาสองลูกที่ตั้งตระหง่านถูกทำลาย ซ้ำร้ายยังส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และมีเหตุการณ์ที่สร้างความบอบช้ำต่อทั้งกายใจของคนในชุมชน
นาหนองบงกลายเป็นสัญลักษณ์ของการลุกขึ้นต่อสู้เพื่อคัดค้านเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่จังหวัดเลยเป็นเวลานานนับ 10 ปี โดยมีกลุ่มแม่หญิงอาวุโส ซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดา เป็นแกนนำยืนหยัดต่อสู้เพื่อบ้านเกิดของตน
เสียงตะโกนที่พวกเธอและชาวบ้านพยายามเปล่งออกมานับ 10 ปี อาจมีคนได้ยินบ้าง ไม่ได้ยินบ้าง แต่พวกเธอยืนหยัดต่อสู้ทุกวิถีทาง
ถึงกับใช้ ‘ตำหูก’ ผ้าฝ้ายอินทรีย์ที่เป็นวิถีชุมชนสื่อสารถึงการค้านเหมืองแร่ไปสู่นานาประเทศ พร้อมกับเลี้ยงชีพและหาทุนรอนสำหรับการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อบ้านเกิดต่อไป
เมื่อเสียงหริ่งเรไรถูกกลบด้วยเสียงระเบิดของเหมืองทอง

เราเดินทางจากกรุงเทพฯ มายัง ‘ศูนย์ทอผ้าต่อต้านเหมืองแร่’ ที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านนาหนองบง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เพื่อพบกับ แม่รจน์-ระนอง กองแสน แม่หญิงชาวเลยที่ได้ชื่อว่าเป็นแกนนำสำคัญคนหนึ่ง ที่ออกหน้าลุกขึ้นสู้กับความไม่เป็นธรรมที่บ้านเกิดของเธอ จนได้รับรางวัล ‘ผู้หญิงปกป้องสิทธิชุมชนจากการทำเหมือง’ จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในวันสตรีสากล พ.ศ. 2559

จากที่เห็นแม่รจน์ในภาพข่าวการต่อสู้เรื่องเหมืองทองคำ ทำให้เราจินตนาการภาพของเธอในบุคลิกอีกแบบ ซึ่งห่างไกลจากหญิงร่างเล็กวัย 58 ปี ท่าทางใจดี ที่กำลังง่วนอยู่กับการเย็บผ้าฝ้ายอินทรีย์อยู่ตรงหน้า หลังทักทายถามไถ่ หาน้ำท่ามาต้อนรับตามประสา เราก็เริ่มพูดคุยกัน
“ตอนแรกเราอยู่กันสงบสุขดี ไม่มีปัญหาอะไร ชาวบ้านทำไร่ทำนา รักใคร่กันดี ไปไร่ไปนา มีผัก หน่อไม้ ฟักแฟง ข้าวโพด เอามาแบ่งกันกิน มีความสุข” แม่รจน์เริ่มเล่าด้วยเสียงเบาๆ ในสำเนียงท้องถิ่น
พวกเขาไม่เคยได้รับข่าวสารว่าจะมีเหมืองทองในเขตใกล้บ้าน แม้ในวันที่เหมืองทองเข้ามา พวกเขาก็คิดว่านั่นคือโอกาสที่จะมีลู่ทางในการทำมาหากิน
“ช่วงหนึ่งคนมาเดินสำรวจตามหมู่บ้าน มีฝรั่งเข้ามา มีเฮลิคอปเตอร์ขนเครื่องวัดมาบิน เราก็มองกันนะ ไม่รู้ว่าเขามาทำอะไร จนปี 49 สมัยนายกฯ ทักษิณ เขาอนุมัติให้เปิดเหมืองแร่ทองคำ ชาวบ้านก็ไม่รู้เรื่องอะไรอีก คิดว่าดี ลูกหลานจะได้ไปทำงาน ไม่ต้องเข้ากรุงเทพฯ ตัวแม่เองก็คิดว่าจะไปขายอะไรดีนะในเหมือง ขายส้มตำไก่ย่างดีไหม”

แม่รจน์ก็เหมือนชาวบ้านทั่วไปที่เชื่อตามคำบอกของหน่วยงานในพื้นที่ว่า บริษัทเหมืองทองจะนำพามาซึ่งความเจริญของชุมชน ทั้งการสร้างโรงพยาบาล สร้างโรงเรียน และสร้างอาชีพให้คนแก่คนเฒ่าที่เป็นชาวบ้านส่วนใหญ่ แต่ความเป็นจริงกลับไม่ได้สวยงามเช่นนั้น
“พอเขาเข้ามาสร้างเหมือง แม่ก็เดินไปดู ครั้งแรกที่เห็นคือเขาเอารถแบคโฮมาดันปากป่าที่เราเคยหากินจนหายไปหมด ใจแม่นะ หายไปเลย ตรงนี้เคยเป็นที่หากิน เป็นไร่ชาวบ้าน มันหายไปในพริบตา แม่ตกใจคิดว่าขายของไม่ไหวแล้ว” แม่รจน์เล่าด้วยน้ำเสียงและนัยน์ตาเศร้าจับใจเมื่อย้อนคิดถึงภาพที่เห็นวันนั้น
นับตั้งแต่บริษัทประกอบการเหมืองแร่ทองคำเริ่มระเบิดภูซำป่าบอนและภูทับฟ้า วิถีชีวิตของชาวบ้านก็เปลี่ยนไป
การขับเคลื่อนของกลุ่มแม่หญิงรักษ์บ้านเกิด

เวลานั้นในหมู่บ้านมีแต่คนเฒ่าคนแก่และเด็กอยู่อาศัย กลุ่มแม่หญิงอาวุโสจำนวนไม่ถึง 10 คน จาก 6 หมู่บ้านในเขตวังสะพุงที่ได้รับผลกระทบ จึงร่วมมือร่วมใจกันตั้ง ‘กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด’ ออกมาขับเคลื่อนคัดค้านเหมืองทองคำแห่งนี้
พวกเธอทำหน้าที่ตะโกนบอกร้องให้คนในพื้นที่ตระหนักถึงอันตรายในบ้านตัวเอง พร้อมยื่นหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานรัฐให้เข้ามาช่วยเหลือบ้านเกิดของตน
เริ่มจากหน่วยงานสาธารณสุขเข้ามาตรวจสุขภาพและพบว่าเลือดของชาวบ้าน 54 คนมีระดับสารไซยาไนด์ในร่างกายสูง ซึ่งสารไซยาไนด์เป็นสารเคมีอันตรายที่ใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองทอง
ไม่นานนับจากนั้น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลยได้ประกาศเตือนให้ชาวบ้านในเขตตำบลเขาหลวงระมัดระวังการใช้น้ำจากลำน้ำฮวย ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติสายหลักของท้องถิ่น เนื่องจากตรวจพบสารหนู แมงกานีส แคดเมียม ไซยาไนด์ ปนเปื้อนสูงเกินมาตรฐาน เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ ต่อมาประกาศให้ลดการบริโภคหอยขมจากบริเวณต้นน้ำ เพราะพบสารหนูสูงเกินปกติเช่นกัน

“ปี 52 แม่เริ่มสงสัย ทำไมเด็กเพิ่งคลอดใหม่อาบน้ำบ้านเราแล้วผิวแดงผื่นขึ้นไปหมด ชาวบ้านเองก็แสบตา มองไม่เห็น พอเขามาตรวจก็พบสารอันตราย แต่ชาวบ้านเราไม่มีบ่อสำรอง ต้องทนใช้ไปอีกสองสามปีกว่าเขาจะมาขุดบ่อให้ใหม่ เราทนใช้ทั้งที่รู้ ตอนนั้นเราบอกคนในหมู่บ้านว่า ถ้าเราไม่ช่วยกันมันจะยิ่งกว่านี้”
กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเดินหน้าหาเครือข่ายและรวบรวมมวลชนชาวบ้านเพื่อพากันสู้ทุกวิถีทางที่คิดและทำได้ สู้แบบยิบตาไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร เพราะต่างรู้กันว่าต้องสู้กับอำนาจรัฐ และบริษัทเหมืองทองคำที่มีแต่คนขู่ว่ายิ่งใหญ่ สู้แม้แทบมองไม่เห็นว่าจะได้ชัยชนะมาอย่างไร
“ส่วนมากพวกแม่จะทำหนังสือไป แล้วก็ออกไปขับเคลื่อน เวลาเขามีเวทีประชาคมที่ไหน เราก็เอาเด็ก เอาวัยรุ่น ไปด้วย อย่างพรุ่งนี้จะมีเวทีประชุม เราก็เอารถใส่เครื่องเสียงวิ่งประกาศรอบหมู่บ้านว่าเราจะไปที่จังหวัดนะ ถ้าใครมีกับข้าวก็เอาไปกินร่วมกัน ใครมีลูกมีหลานก็พากันออกมา พอเช้ามีรถมาเป็นแถวเลย
“เวลาไป อบต. แม่จะพูดว่า รัฐกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเพราะดูแลไม่ทั่วถึงใช่ไหม แต่ทำไม อบต. ไม่ดูแลประชาชนของตัวเอง ทำไมคุณไม่ดูแลพวกเรา ทำไมคุณไปดูแลบริษัท แม่พูดตลอดจนโดนคดีว่าเป็นคนปลุกระดม”