‘Sustrends 2024‘ คืองานสัมมนาว่าด้วย 50 เทรนด์ความยั่งยืนที่กำลังเปลี่ยนโลก

    สุภา

    เผยแพร่ 04 ตุลาคม 2566

    SDGs from Global to Local

    โดย เรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย

    สถานการณ์ในโลกปัจจุบันอาจทำให้หลายคนหาเหตุผลในการตื่นมาในทุก ๆ เช้ายากขึ้น ข่าวร้าย ปัญหา และความท้าทายในสื่อที่เราเสพทุกวี่วันคล้ายส่งสัญญาณว่าโลกใบนี้กำลังถูกคุกคามอย่างรุนแรงจากน้ำมือของมนุษย์ องค์กรสหประชาชาติจึงกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ขึ้นเมื่อปี 2015 ซึ่งตั้งแต่นั้นมาจนวันนี้ คุณเรอโน เมแยร์ กล้าพูดได้ว่า ไม่เคยเจอใครแม้แต่คนเดียวที่ไม่เห็นด้วยกับ SDGs เพราะมีความเป็นสากลและออกแบบมาเพื่อรวมให้มนุษย์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

    หากลงลึกไปในรายละเอียดของ SDGs แล้ว เราจะเห็นว่า SDGs มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับทุกคน จนการลงมือปฏิบัติเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนกลายเป็นเรื่องที่ยากจะหลีกเลี่ยง แต่ในขณะเดียวกัน การจะบรรลุเป้าหมายได้ต้องอาศัยความร่วมมือและการลงมือทำจริงของทุกคน SDGs จึงมีเป้าหมายย่อยที่ลงลึกถึงทุกระดับ ตั้งแต่ประเทศไทยไปจนถึงท้องถิ่น เพื่อช่วยให้ ‘คุณ’ เป็นผู้ลงมือทำด้วยตัวเอง และลงมือผลักดันให้เกิดความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ตอบโจทย์ SDGs เพื่อทำให้โลกใบนี้น่าอยู่ และการตื่นขึ้นมาในทุก ๆ เช้าไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

    การปรับ SDGs จาก 17 เป้าหมาย เป็น 6 กลุ่มปัญหา 

    โดย ผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    ทำไมต้องปรับ 

    คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียแปซิฟิกขององค์กรสหประชาชาติ หรือ UNESCAP ประเมินว่า ถ้าเรายังไม่เปลี่ยนวิธีการทำงานเสียใหม่ เราจะบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้ในปี 2065 ซึ่งล่าช้ากว่าความตั้งใจแรกไปถึง 35 ปี แต่การจะบรรลุเป้าหมายให้ได้ตามกำหนดนั้นไม่ใช่การเร่งทำสิ่งเดิม ๆ ให้เร็วขึ้น แต่ต้องพลิกโฉมสิ่งที่เราทำ และเปลี่ยนจากวิธีการทำงานแบบ Silo คือต่างคนต่างทำ ซึ่งเป็นวิธีการทำงานที่ทำให้ขับเคลื่อนความยั่งยืนได้ลำบาก เพราะในขณะที่หนึ่งเป้าหมายเคลื่อนไปข้างหน้า อาจมีอีกหนึ่งเป้าหมายที่ก้าวถอยหลัง เราจึงต้องเปลี่ยนจากการทำงานแบบ Silo มาเป็นการทำงานแบบบูรณาการ

    ปรับเป็นอย่างไร 

    แต่ก่อนจะเปลี่ยนวิธีการทำงาน จำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิธีมอง SDGs เสียก่อน ที่ผ่านมา การที่เรามองแยกเป็น 17 เป้าหมาย ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเราทำแต่ละประเด็นแยกกันได้ จึงเกิดการปรับกรอบความคิดจาก 17 เป้าหมายสู่ 6 กลุ่มปัญหา ประกอบด้วย

    1. การพัฒนาเมืองและพื้นที่กึ่งเมือง (Urban and Peri-urban Development)
    2. เศรษฐกิจที่เป็นธรรมและยั่งยืน (Sustainable and Just Economy)
    3. ชีวิตความเป็นอยู่และศักยภาพของมนุษย์ (Human Well-being and Capabilities)
    4. ระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพ (Sustainable Food System and Healthy Nutrition)
    5. การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมและยั่งยืน (Energy Decarbonization and Universal Access)
    6. ทรัพยากรร่วมระดับโลก (Global Environmental Common)


    เราต้องปรับตัวตามอย่างไร

    เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทางใหม่นั้น เราจึงต้อง

    1. รู้เรื่องระบบธรรมาภิบาล เพื่อสร้างกลไกในการทำงานร่วมกัน
    2. รู้เรื่องเศรษฐกิจและการเงิน เพื่อสร้างกลไกทางตลาด และสร้างแรงดึงดูดให้กับสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน
    3. ทำให้คนธรรมดา ชุมชน และองค์กร ร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อความยั่งยืนได้
    4. หาวิธีใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนในแบบบูรณาการ
    5. เพิ่มศักยภาพของทุกภาคส่วน ผ่านการศึกษาและกิจกรรมการให้ความรู้และสร้างความตระหนักรู้ในวงกว้าง


    โอกาสของธุรกิจในการปรับตัวจากวิกฤตด้านความยั่งยืน

    โอกาสของธุรกิจในการปรับตัวจากวิกฤตด้านความยั่งยืน

    โดย ดร.ธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UN Global Compact Network Thailand)

    Better Hospitality Initiative

    เมื่อทั่วโลกตื่นตัวกับประเด็นเรื่องความยั่งยืน นักท่องเที่ยวที่จะยอมลงทุนเดินทางไกลเพื่อเข้าพักในโรงแรมเพียงไม่กี่คืนนั้นจะค่อย ๆ หมดไป ธุรกิจการท่องเที่ยวจึงต้องปรับตัวและพลิกวิกฤตความยั่งยืนให้เป็นโอกาส โดยเปลี่ยนผ่านสู่การท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ เป็นการท่องเที่ยวที่มากกว่าแค่ในโรงแรม แต่รวมทั้งย่าน เที่ยวทั่วเมือง และที่สำคัญคือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ซึ่งทาง World Bank และ IFC มีทุนสนับสนุนภายใต้โครงการที่ชื่อว่า Better Hospitality Initiaive ให้ธุรกิจที่ออกแบบการท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์ดังกล่าวในประเทศกำลังพัฒนาอย่างเช่นประเทศไทยอีกด้วย 

    เนื่องจาก Sustainable Hospitality Alliance (SHA) ซึ่งประกอบไปด้วย 50,000 กว่าโรงแรมทั่วโลกกำลังสนใจและพยายามเปลี่ยนผ่านสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทยจึงควรรีบปรับตัว รวมถึงหาพันธมิตรเพื่อให้ได้รับการการันตีเรื่องความยั่งยืนจาก SHA ด้วย ‘ฉลากเขียว’ ไม่เช่นนั้นอาจตกเทรนด์ได้ง่าย ๆ


    Food System Transformation

    เพราะประชากรในประเทศไทยกว่า 35 ล้านคนที่อยู่ในธุรกิจการเกษตร แปรรูป และอาหาร มีรายได้ไม่เพียงพอ การเปลี่ยนผ่านระบบอาหารจึงจะเกิดขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 5 ประเด็นหลัก

    1.  ได้แก่ทำให้อาหารมีคุณภาพ ไม่มีสารปนเปื้อน 
    2. ทำให้มีอาหารกระจายอย่างทั่วถึง
    3. ทำให้เกิดการผลิตและบริโภคอาหารอย่างยั่งยืน
    4. ทำให้เกิดการกระจายรายได้ของประชากรที่อยู่ในธุรกิจอาหาร
    5. ให้ความช่วยเหลือเรื่องอาหารเมื่อเกิดวิกฤตต่าง ๆ

    ทุกธุรกิจที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับ 5 ประเด็นหลักนี้ เพื่อพลิกการเปลี่ยนผ่านระบบอาหารให้เป็นโอกาสทางธุรกิจ

    Green Jobs & Workforce

    ภาคธุรกิจจะเริ่มหันมามองหาคนที่มีความสามารถอันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เช่น ความสามารถในการประเมินต้นทุนของแหล่งวัตถุดิบทางธรรมชาติหรือ ‘คุณค่า’ ของทรัพยากรโดยคำนึงถึงที่ผลกระทบในภาพใหญ่ ไม่ใช่แค่การประเมิน ‘มูลค่า’ หรือการตีราคา ความสามารถในการวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าของกิจกรรมในองค์กร (Value Chain Analysis) เพื่อช่วยเพิ่มคุณค่าและสร้างผลกำไร หรือความสามารถในการวิเคราะห์และจัดการกับผลิตภัณฑ์ที่จะถูกดึงออกจากตลาด (Product End of Life Analysis) เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ฉะนั้น หากต้องการเพิ่มคุณค่าและค่าตอบแทนของตัวเองในตลาดแรงงาน คุณจำเป็นต้องคำนึงถึงการพัฒนาความสามารถและทักษะเหล่านี้เป็นสำคัญ

    From Nice-to-have to Want-to-have

    มุมมองที่มีต่อความยั่งยืนได้เปลี่ยนไปจากเมื่อก่อน จากที่เคยเป็นสิ่งที่ ‘ทำก็ดี’ กลายเป็นสิ่งที่ ‘ต้องทำ’ เพราะการบังคับใช้กฎหมายของภาครัฐที่เข้มงวดขึ้น แต่เทรนด์ที่เราจะเห็นในปี 2024 คือความยั่งยืนกลายเป็นสิ่งที่หลายธุรกิจ ‘อยากจะทำ’ เพราะประโยชน์ที่ได้นั้นจะตกอยู่ที่มนุษย์ โลก และผลกำไรของบริษัทเอง 

    ความจริงนั้นมีหลายด้าน ซึ่งทุกคนมีอิสระในการเลือกที่จะมองในด้านที่ตัวเองคิดว่าถูก ว่าใช่ นั้นแปลว่าหากเราไม่มีหลักการกลางและบรรทัดฐาน ก็อาจก่อให้เกิดการปะทะของอิสรภาพทางความคิด โชคดีที่ความจริงในประเด็นเรื่องความยั่งยืนนั้น มี SDGs เป็นหลักการกลาง ที่จะประสาน ‘แฟนด้อม’ พร้อมลดแรงปะทะของ ‘ฟรีด้อม’ ทางความคิด อันจะนำไปสู่การมีส่วนร่วมของทุกคนเพื่อแก้ปัญหาความยั่งยืนในท้ายที่สุด

    การพูดคุยถึงหลักการในวันนี้จะนำมาสู่การปฏิบัติจริงได้ ถ้าเรามีความเชื่อว่าความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้จริง เพราะถ้าเราไม่เชื่อว่ามันจะสำเร็จ เราจะไม่ลงมือทำ แต่เราตัวคนเดียวก็แก้ปัญหาความยั่งยืนไม่ได้ เราจึงต้องเชื่อมให้ทุกคนเข้ามาร่วมแก้ปัญหาด้วยกัน โดยใช้ภาษากลางที่เรียกว่า SDGs เพื่อสร้างความเชื่อร่วมกัน แล้วทุกสิ่งที่เราทุ่มเทแรงกาย แรงใจ แรงเงินไปมากมาย จะได้สำเร็จ และเราจะได้อยู่ในโลกที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

    ความคิดเห็น