เมื่อฉันได้พบกับวิชาจริยศิลป์

    อ้อม

    เผยแพร่ 19 กันยายน 2566

    อ้อมพบว่า บางทีจิตที่วุ่นวายเกินไปกับเรื่องภายนอก ทำให้เราไม่มีโอกาสได้ฟังเสียงที่ดังจากข้างในตัวเอง เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันมีเสียงเเบบนั้นอยู่ จวบจนเมื่อเรามีโอกาส “หยุด” เเละหยุดนานพอ เราจึงได้ยินเสียงนั้นชัดขึ้น เเละเมื่อ “ยอมรับ” การมีอยู่ของเสียงจากภายในตัวเอง เราอาจได้ค้นพบว่าเราขาดอะไร เเล้วเราต้องเติมอะไร เพื่อทำให้จิตวิญญาณของเราสมบูรณ์ขึ้น..

    ย้อนไปตอนได้นั่งวาดลายเรือกอเเละลงบนป้าย ช่วยทีมภาคใต้ในงานมหกรรมปีที่ผ่านมา ดูเเบบเรือที่เพื่อนส่งมาให้ผ่านมือถือ หัดวาดไปเรื่อยๆ เเม้จะแอบกังวลว่ามันอาจจะไม่เหมือน ไม่สวยพอ เเต่ก็วาดไปไม่หยุด 

    ตอนนั้นเสียงพูดคุย หยอกล้อเล่นกันในหมู่เพื่อนๆดังอยู่ตลอด เเต่เรากลับพบว่าตัวเองสงบ จนเสียงข้างนอกเบาลง ได้ยินเเค่ความคิดของตัวเอง เเละจิตที่จดจ่อกับพู่กัน เเละเส้นที่วาด

    ตั้งเเต่ปิ๊งเเว๊บในคราวนั้นเอง ที่ทำให้รู้ว่า "ศิลปะ" นี่เอง ที่อาจจะเป็นบางอย่างที่หายไปในชีวิต เป็นเครื่องมือภาวนา เเละพัฒนาจิตวิญญาณอีกอย่างหนึ่งที่เหมาะกับตัวเอง

    จนเมื่อได้มีโอกาสเข้าร่วมค่ายจริยศิลป์เคลื่อนชุมชน เมื่อวันที่ 11-14 ที่ผ่านมา ที่ปากน้ำประเเสร์ กับน้องๆจาก รร.ชุมชนวัดตะเคียนงาม รร.บ้านโป่งเกตุ เเละปูทะเลย์ หนนี้อ้อมได้เป็นผู้เข้าร่วม มีเพื่อนร่วมเรียนเป็นน้องๆ น้องทำกิจกรรมอะไร เรียนรู้เรื่องอะไร เราก็ทำไปด้วยกัน อยู่กลุ่มเดียวกับน้อง เสมือนเป็นหัวหน้าเเก็งค์เด็ก

    ครูพาเรียนรู้ “ศิลปะ” อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ร้อยเรียงกระบวนการเรียนรู้ตั้งเเต่วันเเรก จนวันสุดท้าย​ เเต่ที่อ้อมประทับใจที่สุดเเละอยากจะหยิบยกมาพูดถึงโดยเฉพาะ น่าจะเป็นเรื่อง “contour” เทคนิคการวาดภาพที่ครูบอกว่า ไม่ยกมือออกจากดินสอเเละกระดาษที่เราวาด ตาไม่มองที่กระดาษ เเต่ให้จดจ้องไปที่เเบบที่เราวาด เห็นตรงหน้าอย่างไร ก็วาดไปตามนั้น 

    ก่อนเริ่มวาดครูเข็มให้กุญแจภาวนาไว้ 4 ดอก 

    "รู้เฉพาะหน้า
    เห็นตามจริง
    ทำตามนั้น
    ทำสม่ำเสมอ ทำซ้ำๆ"

    เมื่อลงมือทำ ถึงได้เห็นจิตใจที่พุ่งไปข้างหน้า ใจที่นำไปก่อนที่ตาจะกวาดไปถึง พบว่าเราเป็นเช่นนี้เสมอ พุ่งไปที่ปลายทาง ตามความอยากของเรา จนเมื่อมีสติ ระลึกถึงกุญแจ 4 ดอกที่ครูให้ท่องไว้ ได้ดึงจิตกลับมาที่ปัจจุบัน ตามตาเห็น ฝึกไปซ้ำๆ ก็ค่อยๆเข้าใจว่าทำไม วิธีการนี้ถึงเป็นวิธีภาวนา เป็นเครื่องมือพาอ้อมก้าวข้ามความกังวลในใจ แล้วก็ได้พบตัวเอง เเละยอมรับว่าเราเป็นเช่นไร 

    ถึงขนาดที่พาย้อนกลับไปในวัยเด็กเมื่อหลายปีก่อน nostalgia moment ก็กลับมา จำความได้ว่าที่ห้องเรียนศิลปะ เด็กหญิงอ้อมคนนั้นเคยลองวาดรูป วาดเเบบ กล้าๆกลัวๆว่ามันจะไม่สวย ไม่เหมือน ไม่สมจริง เด็กคนนั้นที่เผลอกดดันตัวเองซะจนคิดว่า ศิลปะอาจจะไม่เหมาะกับเรา เเล้วก็เลิกราไปในที่สุด

    เมื่อค้นพบด้วยตนเอง จึงเข้าใจอย่างอย่างลึกซึ้งขึ้น ว่าทำไม “จริยศิลป์" จึงสามารถ “เคลื่อนชุมชน” ได้

    เมื่อเด็กๆที่เข้าร่วมกับเรา ได้มีโอกาสรู้จักศิลปะ ในมิติหรือวิธีที่เเตกต่างไปจากการเรียนปกติในห้องเรียน “กระบวนการจริยศิลป์” เปิดใจให้พวกเขาได้เรียนรู้ สนุกสนานไปตามวัย เเละซึมซับคุณค่าเข้าไปข้างใน 

    เเม้อาจจะไม่รู้ตัว เเต่อ้อมเชื่อว่ามันฝึกเด็กๆ ให้เข้าใจตนเอง เห็นคุณค่าภายใน เชื่อมโยงกับคุณค่าของภูมิปัญญาของท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ เเละ อัตลักษณ์ของชุมชุม เรารับรู้สิ่งนี้ได้จากเเววตา เเละทีท่าที่เปลี่ยนไป จากวันเเรกของกระบวนการ จวบจนวันสุดท้าย ผ่านการสะท้อนของเด็กๆ คุณครู เเละคนที่เข้าร่วม 

    เมื่อเราเปลี่ยนเเปลงได้จากภายในของ "คน" นี่เองที่เป็นหัวใจของการ “เคลื่อน” ตามที่อาจารย์ยักษ์ได้สอนไว้ 

    พลังธรรมชาติของปากน้ำประเเสร์ มนต์เสน่ห์ของชุมชน ภูมิปัญญาผู้อาวุโส เเละความน่ารักของเด็กๆเจ้าบ้าน ที่เปิดใจในการเรียนรู้ ต้อนรับเพื่อนใหม่ทำให้การเข้าร่วมในรอบนี้ของอ้อมเต็มไปด้วยความสุขมากจริงๆ

    ได้เพื่อน ได้งาน ได้พัฒนาตนเอง อย่างเเท้จริง

    บันทึกไว้ในวันที่ได้มีโอกาสรู้จักกับจริยศิลป์ 

    #จริยศิลป์เคลื่อนชุมชน
    #ปากน้ำประเเสร์
    #พึ่งตนเพื่อชาติ

    ความคิดเห็น