บันทึกสีธรรมชาติ Color Journey

    สุภา

    เผยแพร่ 17 กันยายน 2566

    สีถูกคิดค้นขึ้นมาตั้งแต่ยุคมนุษย์ถ้ำที่ใช้ดินและพืชในการบันทึกเรื่องราวต่างๆ โดยมีตัวผสานเนื้อสี เรียกว่า Binder ทำจาก ‘น้ำลาย’ เพราะมีเอนไซม์ที่สามารถย่อยพืช ก่อนจะพัฒนามาเป็น Binder ที่ได้จากหนังสัตว์ และ ‘กัมอารบิก’ หรือยางไม้

    สีในสมัยก่อน เช่น สีม่วงฟ้าจาก ‘หอยทาก’ ในยุโรปและเมดิเตอร์เรเนียน เรียกว่า ‘Tyrian Purple’ เป็นสีราคาแพงเพราะต้องใช้หอยทากเป็นหมื่นตัว ถัดไปเป็นสีแดงม่วงที่ได้จากแมลงชื่อ ‘Cochineal’ ในอเมริกาใต้ พวกมันอาศัยอยู่ตามต้นกระบองเพชร ซึ่งเป็นที่ต้องการจนมีการทำฟาร์มเชิงอุตสาหกรรม ส่วนอินเดียและไทยก็มีสีแดงที่ได้จากแมลงอย่าง ‘ครั่ง’ เช่นกัน

    แม้ปัจจุบันเราจะหาซื้อสีน้ำนับร้อยนับพันเฉดสีได้ตามร้านเครื่องเขียนทั่วไป แต่ความพิเศษที่หาเทียบไม่ได้ของสีธรรมชาติคือคุณสมบัติที่ยากจะเลียนแบบ ไม่ว่าจะเป็นการตกตะกอนของสี ผิวสัมผัสเฉพาะตัว อีกทั้งสีทำมือยังเก็บความทรงจำของเราไว้อีกด้วย

    การเตรียมสีธรรมชาติ

    การทำสีธรรมชาติทำได้หลายรูปแบบ

    วิธีแรก การเตรียมสีจากดอกไม้ นำดอกไม้ทีละชนิดมาบดในโกร่งบดยา ไล่จากดอกกุหลาบ ดอกเฟื่องฟ้า ดอกเหลืองชัชวาล ดอกอัญชัน ใบอัญชัน และลูกหมึก ใส่น้ำลงไปในโกร่งเล็กน้อย บดดอกไม้จนมีสีออกมา แล้วกรองด้วยผ้าขาวบาง คั้นลงพาเลตต์ใส่สีหรือภาชนะเล็กๆ

    การยืดอายุสีจะใช้วิธีเดียวกับการทำหมึก โดยนำพืชที่ต้องการไปต้มเพื่อพาสเจอร์ไรซ์ แล้วใส่เกลือคล้ายการถนอมอาหาร หากแช่ตู้เย็นจะอยู่ได้ 3 – 4 เดือน แต่ข้อเสียคือต้องใช้พืชในปริมาณที่เยอะมากๆ

    อีกวิธีที่ยากขึ้นสักหน่อย คือการทำสีจากพืชให้เป็นผงพิกเมนต์ด้วยการต้ม มะโมหย่อน ‘ฝาง’ สมุนไพรไทยชนิดหนึ่งที่คนนิยมดื่มเป็นชา ลงไปในหม้อต้มประมาณ 5 – 6 แก่น ไม่นานน้ำในหม้อก็เปลี่ยนเป็นสีแดงอมม่วง ต้องรอจนกว่าน้ำงวดสีถึงจะสวย เมื่อได้ที่แล้วเธอผสมสารส้มซึ่งมีความเป็นกรดลงไปเพื่อช่วยให้สีชัดขึ้น ตามด้วยโซดาแอชที่มีฤทธิ์เป็นด่างเพื่อช่วยให้สีตกผลึก ขั้นตอนต่อไปนำสีที่ผสมเรียบร้อยแล้วไปกรองผ่านกระดาษกรองกาแฟ เอาแต่ส่วนกากไปตากแดด 3 – 4 วัน ก็จะได้ผงสีเก็บไว้ใช้ได้นานๆ

    น้ำส้มสายชูและเบกกิ้งโซดาจากในครัว จะทำให้สีเปลี่ยนเฉด

    สีที่ได้ลงในน้ำส้มสายชู กลายเป็นอีกสีที่สดขึ้นเพราะน้ำส้มสายชูมีความเป็นกรด ส่วนสีที่หยดในเบกกิ้งโซดาซึ่งมีความเป็นเบสจะได้สีที่เข้มขึ้น

    ‘กัมอารบิก’  เป็นยางไม้ธรรมชาติ 100% ที่ได้จากต้นไม้ประเภท Acacia Senegal ซึ่งขึ้นอยู่ในประเทศแถบตะวันออกกลาง เป็นส่วนผสมสำคัญในการทำสีน้ำธรรมชาติ โดยทั่วไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร แต่เมื่อนำก้อนกัมอารบิกมาแช่น้ำทิ้งไว้หนึ่งคืน จะละลายเป็นของเหลวเหนียวๆ คล้ายน้ำผึ้ง มีคุณสมบัติเป็นสารยึดเกาะให้สีน้ำติดทนยิ่งขึ้น

    นอกจากนี้ สีธรรมชาติยังสามารถทำสีจากดิน หิน แร่ ซึ่งมีอุปกรณ์และวิธีการต่างกัน เริ่มจากทำความรู้จักประเภทของดินและหินที่นำมาทำสีได้กันก่อน ดินเหนียวแค่ตากแดดแล้วตำให้ละเอียดก็ใช้ได้เลย ส่วนหินจะต้องเป็นหินตะกอนเพราะหินแกรนิตจะแข็งเกินไป แต่หินตะกอนบดให้แตกได้ หากลองขูดกับหินที่อยู่ใกล้ๆ ก็จะออกสี

    ฉันเชื่อว่าทุกคนมีสิ่งที่รักและทำได้ไม่เบื่อ ทุกครั้งที่ฉันได้อยู่กับสีน้ำฉันรู้สึกผ่อนคลายและจิตใจจดจ่อ ฉันหลงใหลอิสระของสีน้ำที่เพียงจรดปลายพู่กันลงบนกระดาษ สีก็จะซึมไปตามน้ำที่ไหล ดังนั้นจึงต้องฝึกฝนซ้ำๆ จนรู้จังหวะการปล่อยน้ำ ทิศทางการไหล และน้ำหนักในการลงสี หวังว่าบันทึกบทนี้จะจุดประกายให้ใครที่ได้อ่านค้นพบความสุขในแบบฉบับตัวเอง มันอาจซุกซ่อนอยู่มุมใดมุมหนึ่งในตัวเราก็ได้

    ความคิดเห็น